วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์

จัดทำโดย นายพงศธร ทวีธนวัฒนา 4901203042

ตราสารอนุพันธ์น่าลงทุนอย่างไร
• วิเคราะห์ง่าย ไม่ยุ่งยาก โดยการตัดสินใจซื้อขายนั้นสามารถวิเคราะห์อ้างอิงได้จาก ภาพรวมของตลาด SET50 Index ไม่ต้องใช้การวิเคราะห์เป็นรายตัว
• สามารถซื้อหรือขายก่อนก็ได้ทั้ง 2 ขา เนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้ม SET50 Index รวมทั้งราคาเสนอซื้อเสนอขายที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ลงทุนจึงมีความคล่องตัวในการตัดสินใจที่จะซื้อหรือขายได้ตามสถานการณ์ในขณะนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อขายหุ้นที่มี ทางเลือกน้อยกว่า โดยต้องซื้อมา แล้วค่อยขายออกไป หรือหากไม่มีหุ้นอยู่ ก็ต้องไปยืมหุ้นมาจึงจะสามารถขายได้
• เพิ่มอำนาจการซื้อขาย (Leverage) ให้แก่ผู้ลงทุน การลงทุนในอนุพันธ์ใช้เงินลงทุนที่ ต่ำ แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับ ทั้งกำไรและขาดทุนสูง

การลงทุนในอนุพันธ์แตกต่างจากหุ้นอย่างไร
-หุ้นออกโดยบริษัทจดทะเบียน เมื่อผู้ลงทุนซื้อหุ้น เป็นผู้ถือหุ้น จะมีสถานะเป็นเจ้าของบริษัทนั้น ๆ แต่สำหรับอนุพันธ์นั้น เป็นข้อตกลง (Futures) หรือสัญญาสิทธิ (Options) ที่จะซื้อหรือขายล่วงหน้า โดยสัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อมีการจับคู่กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านตลาดอนุพันธ์ และมีกำหนดวันหมดอายุด้วย


การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
• ขั้นตอนที่ 1 ทำการเปิดบัญชีกับบริษัท

• ขั้นตอนที่ 2 วางเงินหลักประกันเริ่มต้นก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อขาย
• ขั้นตอนที่ 3 ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัท
• ขั้นตอนที่ 4 วางเงินประกันขั้นต้นเพิ่มหรือถอนเงินประกัน
• ขั้นตอนที่ 5 สรุปกำไรขาดทุนทุกวัน
• ขั้นตอนที่ 6 หมั่นเช็คสถานะและวันหมดอายุ

การเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ จำเป็นต้องมีเงินวางเป็นหลักประกันหรือไม่ ่
-การซื้อขายสัญญา SET50 Index Futures จะเป็นบัญชีแบบมาร์จิ้นโดยต้องฝากเงินสดเป็นหลักประกันเริ่มต้น (Initial Margin) ไว้ที่บริษัทก่อนส่งคำสั่งซื้อขายทุกครั้ง ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของลูกค้าที่นำมาฝากไว้ที่บริษัท ดังนั้นบริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่กำหนด
-ส่วนการซื้อขาย SET50 Index Options จะแตกต่างจากการซื้อขาย SET50 Index Futures เล็กน้อย โดยผู้ซื้อ (Long) สัญญาออปชันเป็นผู้มีสิทธิเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่ผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สจะไม่มีสิทธิเลือกแต่มีภาระผูกพันที่ต้องปฎิบัติตามสัญญา ดังนั้นผู้ซื้อสัญญาออปชันจ่ายค่าพรีเมียมและไม่ต้องวางเงินประกันเมื่อซื้อออปชัน ส่วนผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สต้องวางเงินประกันก่อนส่งคำสั่งซื้อ ด้านของผู้ขายสัญญาออปชันจะต้องวางเงินประกันก่อนส่งคำสั่งขาย ซึ่งเหมือนกันกับผู้ขายสัญญาฟิวเจอร์ส และในทุกๆสิ้นวันทำการแต่ละวัน บริษัทจะทำการปรับสถานะบัญชีหลักประกันให้เป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งหากค่าพรีเมียมของออปชันแต่ละรุ่นเปลี่ยนแปลงไปจะมีผลทำให้หลักประกันเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งการคำนวณหลักประกันที่เรียกเก็บจากนักลงทุนจะเป็นไปตามสูตรการคำนวณหลักประกันตามที่ตลาดอนุพันธ์ฯกำหนด

การเรียกหลักประกัน (Margin Call) คืออะไร
- เมื่อสิ้นวันทำการ ถ้าหากหลักประกันของท่านลดลงต่ำกว่าระดับหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ซึ่งเป็นระดับหลักประกันที่จะต้องดำรงไว้ คือ 35,000 บาทต่อสัญญาต่อข้างสำหรับ Outright position ของ SET50 Index Futures เจ้าหน้าที่การตลาดจะทำการเรียกเงินประกันจากลูกค้าเพิ่มเติม เรียกว่า การทำ Margin Call โดยลูกค้าจะต้องนำเงินสดมาวางเพิ่มในทำการถัดไป (T+1) เพื่อให้หลักประกันกลับไปอยู่ไม่น้อยกว่าระดับของหลักประกันขั้นต้นที่ 50,000 บาท


การทำ Mark-to-Market คืออะไร
- เป็นการคิดกำไรขาดทุนทุกๆสิ้นวันทำการ โดยคำนวณส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงรายวัน(Daily Settlement Price) ของสัญญาฟิวเจอร์ส และออปชั่นในสิ้นวันนั้นๆวันนี้เทียบกับในวันทำการก่อนหน้า ซึ่งเป็นราคาที่ตลาดอนุพันธ์ประกาศใช้ ถ้าหากในวันนั้นเกิดผลกำไร ท่านก็จะได้เงินเพิ่มในบัญชี แต่ถ้าหากเกิดผลขาดทุนขึ้น บริษัทจะหักผลขาดทุนออกจากบัญชีของท่านเช่นกัน ทำให้บัญชีของลูกค้ามีการปรับสถานะให้ตรงตามราคาตลาดทุกสิ้นวันทำการ ส่งผลให้เงินประกันที่วางไว้ขั้นต้นอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ การชำระราคาในตลาดอนุพันธ์ จึงมีความรวดเร็วกว่า คือกำหนดให้เป็นวันทำการถัดไป (T+1)


ตัวคูณดัชนี (Multiplier) คือ อะไร
-เป็นตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าของสัญญาอนุพันธ์ให้เป็นตัวเงิน ทำให้นักลงทุนทราบว่าจะต้องจ่ายเงินหรือรับเงินเป็นจำนวนกี่บาท เนื่องจากดัชนี SET 50 มีหน่วยเป็นจุด โดยแต่ละจุดของดัชนี SET 50 Index Futures ถูกกำหนดให้มีมูลค่าจุดละ 1,000 บาท สำหรับ SET50 Index Options ดัชนี 1 จุด จะมีมูลค่าจุดละ 200 บาท

การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุน!!

ที่มา
http://www.united.com/

คำถาม
1.เหตุใดตราสารอนุพันธ์จึงน่าลงทุน?
2.Mark to Market คือ อะไร?
3.Multiplier คือ อะไร?

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

นิด้าระดมสมองสุดยอดนักการเงิน ผ่าทางตันศก.ไทยยุคต้นทุนการเงินพุ่ง

จัดทำโดยนายธนกฤษ เลิศวรธรรม 48210358


นิด้า บิสิเนส สคูล ชี้ต้นตอวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ มาจากความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่พัฒนาจนหน่วยงานกำกับตามไม่ทัน ขณะที่วัฒนธรรมสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มผลตอบแทน ส่งผลให้วาณิชธนกรยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ชี้ผลกระทบไทยมากน้อยแค่ไหน ต้องจับตาดูทิศทางการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ แนะจับตาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก หวั่นบาทอ่อนค่าตามยูเอสดอลลาร์ พร้อมเตือนสถาบันการเงินไทยและภาคเอกชนเร่งบริหารความเสี่ยง สร้างความแข็งแกร่งก่อนปัญหารอบใหม่ปะทุ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า บิสิเนส สคูล เปิดเผยถึงกรณีที่วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อย่าง “เลห์แมน บราเธอร์ส” ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน จนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกว่า หากพิจารณาสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว จะพบว่า มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องของความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ ไม่สามารถติดตามได้ทัน แม้กระทั่งหลังเกิดความสูญเสียแล้วก็ยังไม่ชัดเจนในทิศทางของวิธีการแก้ไข ที่ผ่านมาธนาคารกลางตั้งหลักแก้ปัญหาโดยลดอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมาตั้งแต่สงครามโลก แต่ก็ยังยึดติดกับวิธีการแก้ปัญหาเก่าๆ ทั้งที่การลดดอกเบี้ยเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาซัพไพร์ม “ต้องยอมรับว่า ผู้บริหารหน่วยงานกำกับของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยังคงยึดติดกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ ขณะที่โลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก วิศวกรรมทางการเงินได้ก่อให้เกิดตราสารที่เคยช่วยชีวิตสหรัฐอเมริกาผ่านการทำ securitization แล้ววันนี้มันกลับมาเป็นเชื้อร้ายทำลายตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐอเมริกาเสียเอง ตราสารอนุพันธ์ ตราสารทางการเงินมีความซับซ้อนขึ้น ในขณะที่องค์กรที่กำหนดทิศทางนโยบายทางการเงินของประเทศไม่สามารถที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมได้ทัน ขณะที่ชนวนของปัญหาประการที่ 2 อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรของสถาบันการเงินเหล่านี้ที่พยายามสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ด้วยโบนัสที่สูงตามผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงจึงทำให้เขาหล่านี้พยายามที่จะรับความเสี่ยงมากขึ้นจนเกินไป ดังนั้น การลงทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้ จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น เชื่อว่าผลกระทบทางตรงคงมีเพียงการโยกย้ายของเงินทุนในระยะสั้นนี้จากการขาดสภาพคล่อง ซึ่งเห็นผลในตลาดหุ้นชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงินของไทยส่วนใหญ่แล้ว จะพบว่า แทบไม่มีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้เลย แต่ลักษณะการลงทุนจะเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ยกเว้นบางสถาบันการเงินที่ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าได้ลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บราเธอร์ส อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อาจจะเกิดผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหาของสหรัฐอเมริกา เพราะหากว่าการแก้ปัญหาทำได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และปัญหาไม่ลุกลามทำให้ฝั่งประเทศในยุโรปเกิดปัญหามากนัก ก็อาจจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทกับเยนญี่ปุ่นมีโอกาสอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและปอนด์สเตอริง ขณะที่ปัจจัยบวกที่ยังคาดหมายกันอยู่ คือ การเข้าไปซื้อบริษัทที่ประสบปัญหาเหล่านี้โดย Sovereign Wealth Fund (SWF) ที่จะสามารถฃ่วยประคับประคองภาวะวิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาได้ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา นิด้า บิสิเนส สคูล กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินและภาคเอกชนไทยควรตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถประเมินถึงความเสียหายที่เป็นเม็ดเงินได้อย่างชัดเจนและแน่นอน โดยเฉพาะความหวั่นวิตกว่าปัญหาดังกล่าวจะลุกลามต่อไปกว้างแค่ไหน คู่สัญญาของเลห์แมน บราเธอร์ส มีมากเท่าใดที่จะเกิดปัญหาตามมา และในเกมส์นี้ไม่ใช่แค่เลห์แมนจะกระทบใครตรงๆเท่านั้น แต่ทุกคนในเกมส์นี้ต่างมีธุรกรรมระหว่างกัน ความสูญเสียจริงๆเป็นเท่าไรจึงไม่ใฃ่เรื่องที่ใครจะสามารถประเมินได้ ดังนั้น การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับภาคเอกชนและสถาบันการเงินไทยในขณะนี้
“ที่ผ่านมา นิด้า บิสิเนส สคูล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด โดยได้เปิดอบรมหลักสูตรการบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 8 ซึ่งปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับความรู้ในเรื่องของการรู้จักความเสี่ยงและขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงทางกฎหมาย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารเพื่อบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.training.nida.ac.th/” ผศ.ดร.นฤมลกล่าว
คำถาม
1. ท่านคิดว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
2. ถ้าท่านเป็นผู้บริหารของบริษัท ท่านจะรับมือยังไงกับต้นทุนของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
3. การที่ เลห์แมน บราเธอร์ส บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ4 ของอเมริกา ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน มีผลต่อ เศรษฐกิจของประเทศไทย ยังไง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จงอธิบายพอสังเขป