วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

กระทรวงคลังฯ เตรียมแผนกู้เงิน 2.7 แสนล้านอัดฉีดเศรษฐกิจ

จัดทำโดย นาย อรรถสิทธิ์ หงษ์คณานุเคราะห์ 5001100213


กระทรวงคลังฯ เตรียมแผนกู้เงิน 2.7 แสนล้านอัดฉีดเศรษฐกิจ แบ่งเป็นกู้องค์กรระหว่างประเทศ 7 หมื่นล้าน ใช้เพิ่มทุนสถาบันการเงินขยายสินเชื่อตามนโยบายภาครัฐ พร้อมลงทุนเมกะโปรเจกต์-โครงสร้างพื้นฐาน ส่วนอีก 2 แสนล้านกู้ระยะสั้นจากแบงก์ในประเทศ เสริมความคล่องตัวการบริหารและจัดการเงินกู้ให้แก่รัฐวิสาหกิจ เมื่อวันที่ 30 ม.ค. รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า กระทรวงการคลังได้เตรียมเสนอต่อที่ประชุม ครม.วันที่ 3 ก.พ. นี้ เพื่อพิจารณาเห็นชอบให้กระทรวงการคลังกู้เงินจากสถาบันการเงินและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แหล่ง คือธนาคารโลก ธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) และองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น หรือไจก้า วงเงิน 2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 70,000 ล้านบาท เพื่อนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยมีต้นทุนอยู่ที่ 2.38%-3.70% ต่อปี

นอกจากนี้จะเสนอให้ ครม.เห็นชอบในหลักการให้กระทรวงการคลังจัดหาแหล่งเงินกู้จากธนาคารพาณิชย์ในประเทศและสถาบันการเงินเฉพาะกิจ วงเงินไม่เกิน 200,000 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปีในรูปแบบของชอร์ตเทิร์ม ฟาซิลิตี้ (Short term facility) เพื่อเสริมความคล่องตัวในการบริหารและจัดการเงินกู้ในประเทศให้แก่รัฐวิสาหกิจและให้สามารถค้ำประกันเงินกู้ได้ตามกรอบความยั่งยืนทางการคลัง ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะนำเงินกู้จากสถาบันการเงินและองค์กรต่างประเทศจำนวน 70,000 ล้านบาท มาใช้ใน 4 โครงการคือ เพิ่มทุนให้แก่สถาบันการเงินของรัฐเพื่อนำไปขยายสินเชื่อตามนโยบายของรัฐบาล, ลงทุนในโครงการภาครัฐทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนและสร้างการจ้างงานในระยะสั้นไม่เกิน 15 เดือน (มี.ค.52-พ.ค.53) ,ลงทุนในโครงการเมกะโปรเจกต์เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเศรษฐกิจและสังคม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ มีเวลาดำเนินการไม่เกิน 36 เดือน (มี.ค. 52-ก.พ.55) และสนับสนุนโครงการ แผนงานและกิจกรรมตามนโยบายของรัฐบาล ส่วนการจัดหาเงินกู้ในลักษณะชอร์ตเทิร์ม ฟาซิลิตี้ อีก 2 แสนล้านบาท เพื่อให้รัฐวิสาหกิจและสถาบันการเงินภาครัฐสามารถกู้เงินในประเทศระยะสั้นได้โดยตรง ซึ่งเป็นการเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการและยังเป็นเครื่องมือในการจัดสรรการกู้เงินของภาครัฐไม่ให้เกิดภาวะกระจุกตัวในช่วงใดช่วงหนึ่งด้วย ถือเป็นวงเงินสำรองกู้เงินและให้รัฐวิสาหกิจมีทางเลือกในการกู้เงิน โดยกระทรวงการคลังจะค้ำประกันวงเงินแบบเต็มจำนวนหรือแบบบางส่วน เพื่อลดสัดส่วนของการค้ำประกัน เพื่อให้ภาระการค้ำประกันอยู่ในกรอบเพดานในแต่ละปี ที่กำหนดไว้เป็นสกุลเงินบาทไม่เกิน 20% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี

รายงานข่าวเปิดเผยเพิ่มเติมว่า ส่วนกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาจะเสนอให้ที่ประชุม ครม.เห็นชอบโครงการสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวเดินทางระหว่างประเทศ หรือ ทรานซิต พาสเซนเจอร์ (Transit Passenger) เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่มาแวะที่สนามบินสุวรรณภูมิสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวในสถานที่ที่จัดไว้ให้ระหว่างรอการเปลี่ยนเครื่องได้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวได้และสนับสนุนให้ไทยบรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางหรือฮับการบินของเอเชีย




คำถาม
1.กระทรวงการคลังเตรียมแผนกู้เงินเพื่ออัดฉีดระบบเศรฐกิจเป็นจำนวนเงินเท่าใด
2.สถาบันและองค์กรระหว่างประเทศ 3 แหล่งที่กระทรวงการคลังเตรียมแผนกู้เงินเพื่อมาอัดฉีดเศรษกิจ โดยมีวงเงินในการกู้ 70000ล้านนั้น คือที่ใดบ้าง
3.ส่วนวงเงินอีกกว่า 200000 ล้านบาทนั้นกระทรวงการคลังจะเตรียมแผนกู้เงินจากที่ใด

วันอาทิตย์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2552

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการซื้อขายตราสารอนุพันธ์

จัดทำโดย นายพงศธร ทวีธนวัฒนา 4901203042

ตราสารอนุพันธ์น่าลงทุนอย่างไร
• วิเคราะห์ง่าย ไม่ยุ่งยาก โดยการตัดสินใจซื้อขายนั้นสามารถวิเคราะห์อ้างอิงได้จาก ภาพรวมของตลาด SET50 Index ไม่ต้องใช้การวิเคราะห์เป็นรายตัว
• สามารถซื้อหรือขายก่อนก็ได้ทั้ง 2 ขา เนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้ม SET50 Index รวมทั้งราคาเสนอซื้อเสนอขายที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้ลงทุนจึงมีความคล่องตัวในการตัดสินใจที่จะซื้อหรือขายได้ตามสถานการณ์ในขณะนั้น ๆ ซึ่งแตกต่างจากการซื้อขายหุ้นที่มี ทางเลือกน้อยกว่า โดยต้องซื้อมา แล้วค่อยขายออกไป หรือหากไม่มีหุ้นอยู่ ก็ต้องไปยืมหุ้นมาจึงจะสามารถขายได้
• เพิ่มอำนาจการซื้อขาย (Leverage) ให้แก่ผู้ลงทุน การลงทุนในอนุพันธ์ใช้เงินลงทุนที่ ต่ำ แต่ผลตอบแทนที่จะได้รับ ทั้งกำไรและขาดทุนสูง

การลงทุนในอนุพันธ์แตกต่างจากหุ้นอย่างไร
-หุ้นออกโดยบริษัทจดทะเบียน เมื่อผู้ลงทุนซื้อหุ้น เป็นผู้ถือหุ้น จะมีสถานะเป็นเจ้าของบริษัทนั้น ๆ แต่สำหรับอนุพันธ์นั้น เป็นข้อตกลง (Futures) หรือสัญญาสิทธิ (Options) ที่จะซื้อหรือขายล่วงหน้า โดยสัญญาจะเกิดก็ต่อเมื่อมีการจับคู่กันระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายผ่านตลาดอนุพันธ์ และมีกำหนดวันหมดอายุด้วย


การซื้อขายตราสารอนุพันธ์ มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง
• ขั้นตอนที่ 1 ทำการเปิดบัญชีกับบริษัท

• ขั้นตอนที่ 2 วางเงินหลักประกันเริ่มต้นก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อขาย
• ขั้นตอนที่ 3 ส่งคำสั่งซื้อขายผ่านบริษัท
• ขั้นตอนที่ 4 วางเงินประกันขั้นต้นเพิ่มหรือถอนเงินประกัน
• ขั้นตอนที่ 5 สรุปกำไรขาดทุนทุกวัน
• ขั้นตอนที่ 6 หมั่นเช็คสถานะและวันหมดอายุ

การเปิดบัญชีซื้อขายอนุพันธ์ จำเป็นต้องมีเงินวางเป็นหลักประกันหรือไม่ ่
-การซื้อขายสัญญา SET50 Index Futures จะเป็นบัญชีแบบมาร์จิ้นโดยต้องฝากเงินสดเป็นหลักประกันเริ่มต้น (Initial Margin) ไว้ที่บริษัทก่อนส่งคำสั่งซื้อขายทุกครั้ง ซึ่งถือเป็นทรัพย์สินของลูกค้าที่นำมาฝากไว้ที่บริษัท ดังนั้นบริษัทจะจ่ายดอกเบี้ยให้ในอัตราที่กำหนด
-ส่วนการซื้อขาย SET50 Index Options จะแตกต่างจากการซื้อขาย SET50 Index Futures เล็กน้อย โดยผู้ซื้อ (Long) สัญญาออปชันเป็นผู้มีสิทธิเลือกที่จะใช้สิทธิหรือไม่ก็ได้ ในขณะที่ผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สจะไม่มีสิทธิเลือกแต่มีภาระผูกพันที่ต้องปฎิบัติตามสัญญา ดังนั้นผู้ซื้อสัญญาออปชันจ่ายค่าพรีเมียมและไม่ต้องวางเงินประกันเมื่อซื้อออปชัน ส่วนผู้ซื้อสัญญาฟิวเจอร์สต้องวางเงินประกันก่อนส่งคำสั่งซื้อ ด้านของผู้ขายสัญญาออปชันจะต้องวางเงินประกันก่อนส่งคำสั่งขาย ซึ่งเหมือนกันกับผู้ขายสัญญาฟิวเจอร์ส และในทุกๆสิ้นวันทำการแต่ละวัน บริษัทจะทำการปรับสถานะบัญชีหลักประกันให้เป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งหากค่าพรีเมียมของออปชันแต่ละรุ่นเปลี่ยนแปลงไปจะมีผลทำให้หลักประกันเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งการคำนวณหลักประกันที่เรียกเก็บจากนักลงทุนจะเป็นไปตามสูตรการคำนวณหลักประกันตามที่ตลาดอนุพันธ์ฯกำหนด

การเรียกหลักประกัน (Margin Call) คืออะไร
- เมื่อสิ้นวันทำการ ถ้าหากหลักประกันของท่านลดลงต่ำกว่าระดับหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ซึ่งเป็นระดับหลักประกันที่จะต้องดำรงไว้ คือ 35,000 บาทต่อสัญญาต่อข้างสำหรับ Outright position ของ SET50 Index Futures เจ้าหน้าที่การตลาดจะทำการเรียกเงินประกันจากลูกค้าเพิ่มเติม เรียกว่า การทำ Margin Call โดยลูกค้าจะต้องนำเงินสดมาวางเพิ่มในทำการถัดไป (T+1) เพื่อให้หลักประกันกลับไปอยู่ไม่น้อยกว่าระดับของหลักประกันขั้นต้นที่ 50,000 บาท


การทำ Mark-to-Market คืออะไร
- เป็นการคิดกำไรขาดทุนทุกๆสิ้นวันทำการ โดยคำนวณส่วนต่างระหว่างราคาอ้างอิงรายวัน(Daily Settlement Price) ของสัญญาฟิวเจอร์ส และออปชั่นในสิ้นวันนั้นๆวันนี้เทียบกับในวันทำการก่อนหน้า ซึ่งเป็นราคาที่ตลาดอนุพันธ์ประกาศใช้ ถ้าหากในวันนั้นเกิดผลกำไร ท่านก็จะได้เงินเพิ่มในบัญชี แต่ถ้าหากเกิดผลขาดทุนขึ้น บริษัทจะหักผลขาดทุนออกจากบัญชีของท่านเช่นกัน ทำให้บัญชีของลูกค้ามีการปรับสถานะให้ตรงตามราคาตลาดทุกสิ้นวันทำการ ส่งผลให้เงินประกันที่วางไว้ขั้นต้นอาจจะเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ การชำระราคาในตลาดอนุพันธ์ จึงมีความรวดเร็วกว่า คือกำหนดให้เป็นวันทำการถัดไป (T+1)


ตัวคูณดัชนี (Multiplier) คือ อะไร
-เป็นตัวเลขที่ใช้ในการคำนวณมูลค่าของสัญญาอนุพันธ์ให้เป็นตัวเงิน ทำให้นักลงทุนทราบว่าจะต้องจ่ายเงินหรือรับเงินเป็นจำนวนกี่บาท เนื่องจากดัชนี SET 50 มีหน่วยเป็นจุด โดยแต่ละจุดของดัชนี SET 50 Index Futures ถูกกำหนดให้มีมูลค่าจุดละ 1,000 บาท สำหรับ SET50 Index Options ดัชนี 1 จุด จะมีมูลค่าจุดละ 200 บาท

การลงทุนมีความเสี่ยง นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมก่อนการลงทุน!!

ที่มา
http://www.united.com/

คำถาม
1.เหตุใดตราสารอนุพันธ์จึงน่าลงทุน?
2.Mark to Market คือ อะไร?
3.Multiplier คือ อะไร?

วันเสาร์ที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2552

นิด้าระดมสมองสุดยอดนักการเงิน ผ่าทางตันศก.ไทยยุคต้นทุนการเงินพุ่ง

จัดทำโดยนายธนกฤษ เลิศวรธรรม 48210358


นิด้า บิสิเนส สคูล ชี้ต้นตอวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ มาจากความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่พัฒนาจนหน่วยงานกำกับตามไม่ทัน ขณะที่วัฒนธรรมสร้างแรงจูงใจด้วยการเพิ่มผลตอบแทน ส่งผลให้วาณิชธนกรยอมรับความเสี่ยงที่เพิ่มสูงขึ้น ชี้ผลกระทบไทยมากน้อยแค่ไหน ต้องจับตาดูทิศทางการแก้ปัญหาของสหรัฐฯ แนะจับตาตลาดอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลัก หวั่นบาทอ่อนค่าตามยูเอสดอลลาร์ พร้อมเตือนสถาบันการเงินไทยและภาคเอกชนเร่งบริหารความเสี่ยง สร้างความแข็งแกร่งก่อนปัญหารอบใหม่ปะทุ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นฤมล สอาดโฉม รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือนิด้า บิสิเนส สคูล เปิดเผยถึงกรณีที่วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่อย่าง “เลห์แมน บราเธอร์ส” ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน จนต้องเข้าสู่กระบวนการล้มละลาย ซึ่งได้สร้างความปั่นป่วนให้กับตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกว่า หากพิจารณาสาเหตุหลักของปัญหาดังกล่าว จะพบว่า มีอยู่ 2 ประเด็นสำคัญ โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องของความซับซ้อนของตราสารทางการเงินที่ได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งหน่วยงานกำกับดูแลในสหรัฐฯ ไม่สามารถติดตามได้ทัน แม้กระทั่งหลังเกิดความสูญเสียแล้วก็ยังไม่ชัดเจนในทิศทางของวิธีการแก้ไข ที่ผ่านมาธนาคารกลางตั้งหลักแก้ปัญหาโดยลดอัตราดอกเบี้ยเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีที่ทำกันมาตั้งแต่สงครามโลก แต่ก็ยังยึดติดกับวิธีการแก้ปัญหาเก่าๆ ทั้งที่การลดดอกเบี้ยเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดปัญหาซัพไพร์ม “ต้องยอมรับว่า ผู้บริหารหน่วยงานกำกับของสหรัฐฯ ส่วนใหญ่จะเป็นนักเศรษฐศาสตร์ที่ยังคงยึดติดกับทฤษฎีเศรษฐศาสตร์เดิมๆ ขณะที่โลกการเงินเปลี่ยนแปลงไปมาก วิศวกรรมทางการเงินได้ก่อให้เกิดตราสารที่เคยช่วยชีวิตสหรัฐอเมริกาผ่านการทำ securitization แล้ววันนี้มันกลับมาเป็นเชื้อร้ายทำลายตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐอเมริกาเสียเอง ตราสารอนุพันธ์ ตราสารทางการเงินมีความซับซ้อนขึ้น ในขณะที่องค์กรที่กำหนดทิศทางนโยบายทางการเงินของประเทศไม่สามารถที่จะกำหนดมาตรการที่เหมาะสมได้ทัน ขณะที่ชนวนของปัญหาประการที่ 2 อยู่ที่วัฒนธรรมองค์กรของสถาบันการเงินเหล่านี้ที่พยายามสร้างแรงจูงใจให้กับเจ้าหน้าที่ด้วยโบนัสที่สูงตามผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง ซึ่งแน่นอนว่า เมื่อต้องการผลตอบแทนที่สูงจึงทำให้เขาหล่านี้พยายามที่จะรับความเสี่ยงมากขึ้นจนเกินไป ดังนั้น การลงทุนของสถาบันการเงินเหล่านี้ จึงเต็มไปด้วยความเสี่ยงที่สูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ผศ.ดร.นฤมล กล่าว
สำหรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประเทศไทยนั้น เชื่อว่าผลกระทบทางตรงคงมีเพียงการโยกย้ายของเงินทุนในระยะสั้นนี้จากการขาดสภาพคล่อง ซึ่งเห็นผลในตลาดหุ้นชัดเจน แต่เมื่อพิจารณาพอร์ตการลงทุนของสถาบันการเงินของไทยส่วนใหญ่แล้ว จะพบว่า แทบไม่มีการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ที่มีความเสี่ยงสูงเหล่านี้เลย แต่ลักษณะการลงทุนจะเน้นไปที่พันธบัตรรัฐบาลเป็นหลัก ยกเว้นบางสถาบันการเงินที่ออกมาเปิดเผยก่อนหน้านี้ว่าได้ลงทุนในตราสารที่เกี่ยวข้องกับเลห์แมน บราเธอร์ส อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า อาจจะเกิดผลกระทบทางอ้อมกับเศรษฐกิจไทยในระยะยาว โดยเฉพาะความเคลื่อนไหวในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งจะขึ้นอยู่กับแนวทางการแก้ปัญหาของสหรัฐอเมริกา เพราะหากว่าการแก้ปัญหาทำได้ไม่เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และปัญหาไม่ลุกลามทำให้ฝั่งประเทศในยุโรปเกิดปัญหามากนัก ก็อาจจะส่งผลให้เงินดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลง ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทกับเยนญี่ปุ่นมีโอกาสอ่อนค่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลยูโรและปอนด์สเตอริง ขณะที่ปัจจัยบวกที่ยังคาดหมายกันอยู่ คือ การเข้าไปซื้อบริษัทที่ประสบปัญหาเหล่านี้โดย Sovereign Wealth Fund (SWF) ที่จะสามารถฃ่วยประคับประคองภาวะวิกฤติการเงินของสหรัฐอเมริกาได้ รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา นิด้า บิสิเนส สคูล กล่าวด้วยว่า เมื่อพิจารณาจากจุดเริ่มต้นของปัญหาสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ทำให้สถาบันการเงินและภาคเอกชนไทยควรตระหนักถึงการบริหารความเสี่ยง เนื่องจากจนถึงขณะนี้ ยังไม่มีใครสามารถประเมินถึงความเสียหายที่เป็นเม็ดเงินได้อย่างชัดเจนและแน่นอน โดยเฉพาะความหวั่นวิตกว่าปัญหาดังกล่าวจะลุกลามต่อไปกว้างแค่ไหน คู่สัญญาของเลห์แมน บราเธอร์ส มีมากเท่าใดที่จะเกิดปัญหาตามมา และในเกมส์นี้ไม่ใช่แค่เลห์แมนจะกระทบใครตรงๆเท่านั้น แต่ทุกคนในเกมส์นี้ต่างมีธุรกรรมระหว่างกัน ความสูญเสียจริงๆเป็นเท่าไรจึงไม่ใฃ่เรื่องที่ใครจะสามารถประเมินได้ ดังนั้น การเตรียมพร้อมเพื่อรับมือกับความเสี่ยงในอนาคตจึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับภาคเอกชนและสถาบันการเงินไทยในขณะนี้
“ที่ผ่านมา นิด้า บิสิเนส สคูล ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการบริหารความเสี่ยงมาโดยตลอด โดยได้เปิดอบรมหลักสูตรการบริหารความเสี่ยงขององค์กรต่อเนื่องเป็นรุ่นที่ 8 ซึ่งปิดโครงการไปเมื่อวันที่ 5 กันยายนที่ผ่านมา ทั้งนี้ ผู้เข้าอบรมในหลักสูตรดังกล่าว จะได้รับความรู้ในเรื่องของการรู้จักความเสี่ยงและขั้นตอนในการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนความเสี่ยงทางการเงิน ความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ ความเสี่ยงทางกฎหมาย รวมถึงการประเมินความเสี่ยงและการสื่อสารเพื่อบริหารความเสี่ยง เป็นต้น ซึ่งนับได้ว่า เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันที่สุด โดยผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.training.nida.ac.th/” ผศ.ดร.นฤมลกล่าว
คำถาม
1. ท่านคิดว่าปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ธนาคารเพิ่มอัตราดอกเบี้ย
2. ถ้าท่านเป็นผู้บริหารของบริษัท ท่านจะรับมือยังไงกับต้นทุนของดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น
3. การที่ เลห์แมน บราเธอร์ส บริษัทยักษ์ใหญ่อันดับ4 ของอเมริกา ประสบภาวะวิกฤติทางการเงิน มีผลต่อ เศรษฐกิจของประเทศไทย ยังไง ไม่ทางตรงก็ทางอ้อม จงอธิบายพอสังเขป

วันอังคารที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2551

การจัดหาเงินทุนระยะสั้น จัดทำโดยนางสาวกุลธิดา อินทร์แดง 47210033

การจัดหาเงินทุนระยะสั้น ( Short - Term Financing )
การจัดหาเงินทุนเป็นหน้าที่หนึ่งของผู้จัดการทางการเงิน ซึ่งต้องเลือกแหล่งเงินทุนให้เหมาะสมกับการใช้เงินทุนนั้น ๆ การจัดหาเงินทุนระยะสั้น หมายถึง เงินทุนที่ธุรกิจได้จัดหามาเพื่อนำไปใช้ในการดำเนินกิจการที่มีระยะภายใน 1 ปี แหล่งที่มาของเงินทุนระยะสั้นที่สำคัญได้แก่
1. บัญชีเงินเชื่อ ( Open Account ) หมายถึง ผู้ขายสินค้าส่งสินค้าให้กับผู้ซื้อพร้อมทั้งใบแจ้งหนี้ ซึ่งแสดงรายการต่าง ๆ เกี่ยวกับราคาสินค้า จำนวนสินค้า ยอดเงินที่ต้องชำระโดยผู้ซื้อไม่ต้องเซ็นหลักฐานใดๆที่แสดงความเป็นหนี้อย่างเป็นทางการ ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ขายจะมีการตรวจสอบฐานะทางการเงินของผู้ซื้อก่อน
2. ตั๋วเงินจ่าย ( Note Payable ) ในกรณีนี้ผู้ขายจะขอให้ผู้ซื้อลงนามในตั๋วสัญญาใช้เงิน เพื่อรับรองสภาพการเป็นหนี้ ตั๋วสัญญาใช้เงินนี้จะระบุวันที่ที่ผู้ซื้อจะต้องชำระเงินไว้อย่างชัดเจน
3. ตั๋วแลกเงิน ( Trade Acceptance ) เป็นวิธีการที่ผู้ซื้อต้องเซ็นรับรองการเป็นหนี้ไว้เป็นหลักฐาน ผู้ขายจะออกดราฟท์ให้ผู้ซื้อเซ็นรับรองว่าจะชำระหนี้ภายในกำหนด และเมื่อถึงกำหนดจะให้นำดราฟท์นั้นไปขึ้นเงินที่ธนาคารใด เมื่อผู้ซื้อเซ็นแล้วดราฟท์ก็จะกลายเป็นตั๋วแลกเงิน และตั๋วแลกเงินนี้สามารถนำไปขายลดในท้องตลาดเพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ทันที
เงื่อนไขการขาย ( Term of sale )
ก. COD ( Cash on Delivery ) : ผู้ซื้อต้องชำระเงินสดทันทีที่ได้รับสินค้าจากผู้ขาย เงื่นไขนี้ผู้ขายมีความเสี่ยงจากการที่ผู้ซื้อไม่ยอมรับสินค้าได้ เช่น Pizza , KFC
ข. CBD ( Cash Before Delivery ) : ผู้ซื้อต้องจ่ายเงินค่าสินค้าก่อนที่จะได้รับสินค้า เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงของผู้ขาย
ค. การกำหนดช่วงเวลาการชำระเงินโดยไม่ให้ส่วนลด เช่น เงื่อนไข Net 45 แสดงว่าผู้ซื้อไม่ต้องชำระเงินทันทีที่ซื้อสินค้าแต่ต้องชำระภายใน 45 วัน
ง. การกำหนดช่วงเวลาการชำระเงินโดยให้ส่วนลดเงินสด เช่น เงื่อนไข 2/15,N/45 แสดงว่าผู้ขายให้เครดิตแก่ผู้ซื้อโดยไม่ต้องชำระเงินทันที แต่จูงใจให้ผู้ซื้อรีบนำเงินมาชำระเร็วขึ้นโดยกำหนดส่วนลดเงินสดไว้
จ. Dating จะใช้กับธุรกิจที่ขายสินค้าตามฤดูกาล ซึ่งผู้ขายต้องการให้ลูกค้าสั่งสินค้าล่วงหน้าก่อนที่จะถึงฤดูกาลนั้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ขายสามารถทำการผลิตได้ต่อเนื่อง และไม่ต้องเก็บรักษาสินค้านั้นไว้รอจนกระทั่งถึงฤดูกาลที่ต้องการสินค้านั้น และผู้ซื้อก็ไม่ต้องจ่ายเงินค่าสินค้าจนกว่าจะขายสินค้าได้

ต้นทุนของเครดิตทางการค้า
ผู้ขายที่ให้เครดิตทางการค้าจะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากการที่เงินจมในบัญชีลูกหนี้การค้า ทำให้เสียโอกาสจากการได้รับผลตอบแทน และสำหรับผู้ซื้อที่ชำระเงินสดในวันที่ครบกำหนดชำระ จะมีค่าเสียโอกาสเกิดขึ้น เรียกว่า ต้นทุนไม่เอาส่วนลด คำนวณได้ดังนี้
ต้นทุนที่ไม่เอาส่วนลด =[ อัตราส่วนลด / ( 100 - อัตราส่วนลด )] x [360 / ( ระยะเวลาให้เครดิต - ระยะเวลาให้ส่วนลด )]
หากเงื่อนไขการขายเปลี่ยนแปลงไป โดยมีการขยายระยะเวลาการให้เครดิตนานออกไป เช่น เดิมให้เครดิต 2/15,N/30 เปลี่ยนเเป็น 2/15, N/60 จะทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำลง หรือต้นทุนไม่เอาส่วนลดต่ำลง นักศึกษาลองพิสูจน์ข้อเท็จจริงนี้ได้โดยการแทนค่าในสูตร ต้นทุนไม่เอาส่วนลด
ข้อดีของเครดิตการค้า
1. เป็นแหล่งเงินทุนที่มีอยู่ทั่วไปและหาได้ง่าย2. ไม่ก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายใด ๆ3. การขอเครดิตการค้าไม่ต้องทำเป็นทางการ4. เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่มีเครดิตพอที่จะหาเงินจากแหล่งอื่น5. มีความยืดหยุ่นสูง เช่นอาจจะเลื่อนเวลาการชำระเงินได้
คำถาม
1.การจัดหาเงินทุนระยะสั้นหมายถึงอะไรและแหล่งที่มาของเงินทุนระยะสั้นที่สำคัญได้แก่อะไรบ้าง
2 ผู้ขายที่ให้เครดิตทางการค้าจะมีต้นทุนที่เกิดขึ้นจากอะไร
3. ข้อดีของเครดิตการค้ามีกี่ข้อและมีอะไรบ้าง

แหล่งที่มา
http://www.geocities.com/teacher_jrp/s_finamain1.htm

วันอังคารที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

เรื่อง: ตลาดหุ้นไทยยืนแดนบวกในช่วง 1-2% เตือนระวังแรงขายที่ 400 จุด

จัดทำบทความโดย: นางสาวชนาวจี เอมโอช เลขทะเบียน 47210004


เรื่อง: ตลาดหุ้นไทยยืนแดนบวกในช่วง 1-2% เตือนระวังแรงขายที่ 400 จุด

หุ้นภาคเช้าปิดบวก 1.60% ตามทิศทางตลาดต่างประเทศ โบรกฯ มั่นใจช่วงบ่าย ยังยืนในแดนบวก 1-2% เตือนระวังแรงที่ระดับ 400 จุด โดยคาดว่า ตัวเลขจีดีพี Q3 ของสหรัฐฯ ที่จะประกาศในคืนนี้ อาจติดลบต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ภาวะตลาดหุ้นไทย วันนี้ ( 25 พ.ย.) ดัชนีภาคเช้าปิดที่ระดับ 392.31 จุด เพิ่มขึ้น 6.19 จุด เปลี่ยนแปลง +1.60% มูลค่าการซื้อขาย 4,016.41 ล้านบาท เป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ ขานรับดรีมทีมเศรษกิจชุดใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่การเมืองในประเทศ ไม่มีความรุนแรงเกิดขึ้น ทำให้นักลงทุนกล้าเข้ามาเล่นในระยะสั้น

นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ไซรัส กล่าวว่าดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงเช้าฟื้นตัวขึ้นตามทิศทางตลาดหุ้นต่างประเทศ โดยเฉพาะดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นสหรัฐฯ เมื่อคืนนี้ ปรับเพิ่มขึ้นข้างแรงขานรับข่าวดีที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ เตรียมจะค้ำประกันสินทรัพย์เสี่ยงของ ซิตี้ กรุ๊ป (Citi group) จำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์ พร้อมอัดฉีดเงินอีก 2 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยการเพิ่มทุน โดยเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือธนาคาร และจะเข้าถือหุ้นบุริมสิทธิของซิตี้ กรุ๊ป รวมทั้งจะให้ความคุ้มครองต่อผลขาดทุนของพอร์ตเงินกู้และหลักทรัพย์มูลค่าราว 3.06 แสนล้านดอลลาร์ในงบดุลบัญชีของซิตี้ กรุ๊ป เป็นปัจจัยบวกต่อระบบสถาบันการเงิน

ขณะเดียวกัน นายบารัค โอบามา ว่าที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศชื่อทีมเศรษฐกิจตามคาด ประธานเฟดสาขานิวยอร์ก นายทิโมธี กีธเนอร์ จะเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ และนายลอเรนซ์ ซัมเมอร์ส อดีต รัฐมนตรีคลัง จะรับตำแหน่งผู้อำนวยการสภาเศรษฐกิจแห่งชาติ ถือเป็นบุคคลที่ตลาดหุ้นทั่วโลกให้การยอมรับในความสามารถ

นายทิโมธี กีธเนอร์ เป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ที่มีความสามารถโดดเด่นมากจากประวัติการทำงานในกระทรวงการคลังมาตลอดตั้งแต่จบการศึกษาและได้ผ่านการร่วมงานกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังมาถึง 5 สมัย อีกทั้งดำรงตำแหน่งประธานเฟดสาขานิวยอร์ค ตลอดจนเป็นหนึ่งในคณะบริหารแผนกู้วิฤต 7 แสนล้านดอลลาร์ร่วมกับนายเฮนรี พอลสัน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ คนก่อน และนายเบน เบอร์นันกี ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จึงเป็นความหวังที่จะเข้ามาพลิกฟื้นเศรษฐกิจโลกให้พ้นจากภาวะตกต่ำได้

ขณะที่การชุมนุมทางการเมืองในประเทศเริ่ม แม้จะยืดเยื้อ แต่ก็ไม่มีเหตุรุนแรง เพราะรัฐบาลพยายามที่จะใช้วิธีเดิมๆ ตีสองหน้า โดยใช้ภาพการประนีประนอมและหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า แต่งานใต้ดินกลับใช้กุลุ่มคนมีสีและอันธพาล ลอบทำร้ายประชาชนโดยตลอด ทำให้สถานการณ์ยังไม่สามารถแตกหักได้ นักลงทุนจึงลดน้ำหนักความสนใจลง และหันไปเก็งกำไรจากข่าวบวกในต่างประเทศ

สำหรับแนวโน้มในช่วงบ่าย ยังคงเคลื่อนไหวในแดนบวกได้ต่อเนื่อง ดัชนีแกว่งตัวในแดนบวกช่วง 1-2% จากบรรยากาศทางเศรษฐกิจในต่างประเทศที่ดีขึ้นหลังเปิดเผยทีมเศรษฐกิจสหรัฐฯฯ ที่เป็นที่น่าพึงพอใจ และการเร่งเข้าช่วยเหลือ Citigroup ลดแรงกดดันจากการล้มละลายของสถาบันการเงิน ในขณะที่ล่าสุด นายกอร์ดอน บราวน์ นายกรัฐมนตรีของอังกฤษ ประกาศมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ 25.6 พันล้านปอนด์ หรือประมาณ 38.8 พันล้านดอลลาร์ เป็นแผนระยะ 2 ปีเพื่อเยียวยาเศรษฐกิจที่เผชิญภาวะถดถอยครั้งแรกในรอบ 17 ปี น่าจะช่วยสนับสนุนจิตวิทยาการลงทุนให้ตลาดหุ้นยุโรปที่เปิดการซื้อขายบ่ายวันนี้ปรับขึ้นได้

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่กำลังตึงเครียด รวมไปถึงตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ซึ่งจะประกาศในคืนนี้ อาจจะกดดันให้ตลาดเกิดแรงเทขายทำกำไรที่บริเวณแนวต้าน 400 จุดโดยจะมีการประกาศ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และ ตัวเลข GDP สหรัฐฯ Q3/51 ที่อาจออกมาติดลบต่อเนื่อง กลยุทธ์การลงทุน แนะนำขาย โดยให้แนวต้าน 400 จุด และแนวรับ 383 จุด

ทั้งนี้ ดัชนีปิดตลาดภาคบ่ายที่ระดับ 391.85 จุด เพิ่มขึ้น 5.73 จุด หรือเปลี่ยนแปลง +1.48% มูลค่าการซื้อขายรวม 7,425.04 ล้านบาท

ที่มา: http://www.manager.co.th/StockMarket/ViewNews.aspx?NewsID=9510000139555

คำถามท้ายเรื่อง

  1. ใครเป็นผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจรุ่นใหม่ และมีความสามารถโดดเด่นเรื่องใด?

  2. ภาวะตลาดหุ้นไทยดัชนีปิดตลาดภาคบ่ายที่ระดับกี่จุด เพิ่มขึ้นหรือลดลงกี่จุด?

  3. ภาวะตลาดหุ้นไทยดัชนีภาคเช้าปิดที่ระดับ 392.31 จุด มีมูลค่าการซื้อขายเท่าใด?





การจัดการทางการเงิน หลังการแปรรูป ปตท.

กรณีศึกษา การจัดการทางการเงิน หลังการแปรรูป ปตท.
พิชัย ชุณหวชิร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)การปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ได้แปรรูปจากการเป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยพระราชบัญญัติการปิโตรเลียม มาเป็นบริษัทมหาชนจำกัด โดยการแปลงสภาพภายใต้พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ(พ.ร.บ.ทุน) และกระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตั้งแต่ปลายปี 2544 โดยยังคงมีรัฐบาลเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่และในปี 2545 ซึ่งเป็นปีแรกของการเปลี่ยนระบบจากการจ่ายเงินนำส่งเข้าสู่รัฐ เป็นการจ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินปันผล ปตท.ได้จ่ายเงินให้รัฐเป็นจำนวน 17,240 ล้านบาท ซึ่งมากกว่าปี 2544 ที่มีการนำเงินส่งรัฐ 11,269 ล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปี 2548 นี้ ปตท.และบริษัทในเครือได้จ่ายภาษีเงินได้นิติบุคคลและเงินปันผล เป็นเงิน 25,911 ล้านบาททำไม หลังแปรรูป ปตท.มีผลประกอบการแบบก้าวกระโดดทั้งๆ ที่มีผู้บริหาร และพนักงานคณะเดิมหาก ปตท. ทำเพียงจดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชนและระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เท่านั้น โดยยังบริหารงานอย่างเดิมๆ ก็คงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนักแต่กว่า ปตท.และบริษัทในเครือจะประสบความสำเร็จได้มากขนาดนี้ ต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายประการ ต้องเป็นองค์กรที่ดี มีผู้บริหารที่ดีมีวิสัยทัศน์บุคลากรในบริษัทต้องมีคุณภาพ ต้องดำเนินงานอย่างมีความเที่ยงธรรมสิ่งสำคัญที่สุดต้องมีความคล่องตัวและยืดหยุ่นรู้จักปรับตัวให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตความจริงแล้ว การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ในปี 2540 เป็นแรงกระตุ้นทำให้ ปตท.และบริษัทในเครือต้องเร่งปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจให้มีความเข้มแข็งในระยะยาว พร้อมรับกับสถานการณ์ทุกรูปแบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตโดยการแปรรูปเป็นคำตอบหนึ่งที่ ทำให้ ปตท.เข้มแข็งในระยะยาวดังตัวอย่างในปี 2536 ที่ ปตท. ได้นำบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด มหาชน (ปตท.สผ.) ซึ่งเป็นบริษัทแรกในเครือ ปตท. เข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะธุรกิจของ ปตท.สผ. ต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ซึ่งในขณะนั้น บริษัทแม่ก็คือการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทย ซึ่งสามารถให้เงินสนับสนุนในจำนวนจำกัด จึงจำเป็นต้องหาวิธีการระดมทุนแบบอื่นๆ เพิ่มเติมนอกเหนือจากเงินทุนจากบริษัทแม่ดังนั้น การเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯของ ปตท.สผ. จึงเป็นทางหนึ่งในการระดมทุนเพื่อให้มีเงินมากพอที่จะซื้อทรัพย์สินได้ใหญ่ขึ้นจนวันนี้ ปตท.สผ. มีทรัพย์สินมูลค่ามหาศาล ทำให้มีศักยภาพเพียงพอในการเข้าไปลงทุนในสัมปทาน แหล่งก๊าซธรรมชาติ และน้ำมันทั้งในและต่างประเทศ เช่น แหล่ง S1 แหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งยาดานา แหล่งเยตากุน เป็นต้นวันนั้นถ้า ปตท.ไม่ทำให้ ปตท.สผ. มีเงินทุนเพื่อไปลงทุนได้ ปตท.สผ. คงมีสัมปทาน เพียงแหล่ง S1 และแหล่งอื่นอีกเล็กน้อย จะไม่มีแหล่งบงกช แหล่งไพลิน แหล่งยาดานา แหล่งเยตากุน รวมถึง แหล่งเจดีเอเพราะฉะนั้นหาก ปตท.สผ. ไม่ได้แปรรูป และ ปตท.เป็นเจ้าของ 100% จะมีมูลค่าเพียง 5 หมื่นล้านบาทแต่วันนี้ ปตท. เป็นเจ้าของ 60% ของมูลค่าบริษัทที่ 3 แสนล้านบาท พร้อมกับ ศักยภาพ ในการหาแหล่งพลังงานได้มากขึ้นการแก้ปัญหาบริษัทในเครือหลังระดมทุนจากตลาดหลักทรัพย์หลังปี 2540 ทุกบริษัทประสบปัญหาขาดทุน และภาระหนี้สินเพิ่มขึ้น เพราะค่าเงินบาทตกต่ำลง ทำให้ภาระหนี้เมื่อคิดเป็นเงินบาทเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันราคาผลิตภัณฑ์อยู่ในช่วงขาลง หลายบริษัทอยู่ในขั้นไม่สามารถจ่ายดอกเบี้ยได้ปตท.เองก็อยู่ในภาวะตึงตัว อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนอยู่ในอัตรา 5:1แต่ประโยชน์ที่ได้จากการแปรรูป และจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ คือ ทำให้ ปตท.ได้รับเงินจากการขายหุ้นเพิ่มทุนประมาณ 26,000 ล้านบาท โดย ปตท.ได้นำมาลดหนี้สินและใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนบางส่วน ซึ่งมีผลให้โครงสร้างทางการเงินของ ปตท. แข็งแรงขึ้น มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2 : 1 ในระยะแรกและมีเงินสดเพียงพอ สำหรับให้ความช่วยเหลือบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาทางการเงินนอกจากนั้น ปตท. ยังมีความคล่องตัวเพิ่มขึ้น สามารถตัดสินใจเข้าลงทุน เข้าบริหารจัดการได้อย่างรวดเร็วรวมทั้งดำเนินการเจรจาปรับลดหนี้ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างทางการเงิน และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทในเครือที่ประสบปัญหาจนกลับมาแข็งแรง เป็นบริษัทที่มีผลดำเนินงานที่ดีและสามารถขยายกิจการเพิ่มเติมซึ่งการดำเนินงานดังกล่าว ไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ หาก ปตท.ไม่ได้แปรรูป และระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์เริ่มจากบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เดิมมีทุนจดทะเบียนอยู่ 20 ล้านบาท แต่มีหนี้อยู่เกือบแสนล้านบาท เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 ส่งผลให้ไทยออยล์ประสบปัญหาทางการเงิน เมื่อรวมกับค่าการกลั่นในขณะนั้นซึ่งอยู่ที่ระดับต่ำมากคือประมาณ 2 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล รายได้จากการดำเนินงานนำมาหักค่าใช้จ่ายทั้งหมดเหลือจ่ายดอกเบี้ยได้น้อยมาก จึงมีความจำเป็นต้องทำการปรับโครงสร้างหนี้วิธีปรับโครงสร้างหนี้ของไทยออยล์ ที่มีหนี้ทั้งหมดประมาณ 2,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ปตท.ได้เจรจาขดลดหนี้ลงประมาณ 400 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเงื่อนไขว่า ปตท.ต้องเพิ่มทุนในไทยออยล์ เป็นเงิน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 11,000 ล้านบาท) และส่วนของเจ้าหนี้ให้แปลงหนี้เป็นทุน 250 ล้านเหรียญสหรัฐ เท่ากับลดหนี้ได้ 900 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้เหลือหนี้ ประมาณ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐ และนำมาจัดโครงสร้างในการชำระหนี้ใหม่ โดยกำหนดให้มีระยะเวลาในการชำระหนี้มากกว่า 10 ปี อัตราดอกเบี้ยจ่ายก็จะจ่ายในช่วงปีแรกน้อย และเพิ่มขึ้นในช่วงปีหลังการปรับโครงสร้างหนี้ของ ไทยออยล์ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมมือกันทั้งหมด ทั้งผู้ถือหุ้น เจ้าหนี้และพนักงานในบริษัท ทำควบคู่กันไปโดยในส่วนของบริษัทเองมีการให้พนักงานลาออกโดยสมัครใจ ซึ่งมีคนสมัครเข้าโครงการ 200 กว่าคน พนักงานส่วนที่เหลือไม่ขึ้นเงินเดือน 3 ปี มีลาออกไปบางส่วน ขายธุรกิจบางอย่างส่วนฝ่ายบริหารเปลี่ยนรถประจำตำแหน่งจากเบนซ์มาเป็นวอลโว่ ผู้บริหารระดับรองลงมานั่งโตโยต้าส่วนระดับล่างไม่มีมีการขายธุรกิจเรือออกไปได้เงิน ประมาณ 10 กว่าล้านเหรียญ และขายหุ้นโรงไฟฟ้าออกไป 25%จนปี 2546 ไทยออยล์ เริ่มมีกำไร 6,750 ล้านบาท และในครึ่งปีแรกของปีนี้ มีกำไร 7,222 ล้านบาทถ้า ปตท.ไม่มีกำลังเข้าไปปรับโครงสร้างในขณะนั้น ไทยออยล์วันนี้จะกลายเป็นของเจ้าหนี้ ซึ่งอาจจะมีการขายออกไปให้ต่างชาติ เพราะผู้ที่อยู่ในธุรกิจการเงินไม่ต้องการที่จะมาลงทุนในธุรกิจที่ตัวเองไม่ถนัด วันนี้โรงกลั่นไทยออยล์ก็อาจจะกลายเป็นของต่างชาติสำหรับการดำเนินการกับโรงกลั่นน้ำมันระยอง(RRC) ซึ่ง ปตท.ถือหุ้นอยู่ 36% บริษัทขาดทุนสะสมมาตลอดจากวิกฤตเศรษฐกิจ เพราะความต้องการใช้น้ำมันลดลง ค่าการกลั่นต่ำมาก ทำให้ประสบปัญหาการเงินจากภาระหนี้สูง โดยมีหนี้อยู่ 1,335 ล้านเหรียญสหรัฐปตท.ใช้วิธีในการเจรจากับเจ้าหนี้ ทำให้ลดหนี้ได้ประมาณ 200 ล้านเหรียญสหรัฐ และใช้เงิน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 200 ล้านบาท ในการซื้อหุ้นอีก 64% จาก บริษัท เซลล์ ทำให้ ปตท. มีหุ้นในโรงกลั่นระยอง 100%ซึ่งถือเป็นโชคดีเพราะหลังจากที่ ปตท.เป็นเจ้าของโรงกลั่นระยอง ในครึ่งปีแรกค่าการกลั่นดีขึ้น ทำให้มีกำไรถึง 11,000 ล้านบาทซึ่งในส่วนนี้ได้มีการรวมกำไรจากการปรับโครงสร้างหนี้จำนวน 200 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 7,700 ล้านบาท) ด้วยแล้ว และโดยที่ค่าการกลั่นดีขึ้น ส่งผลให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น จึงสามารถนำกำไรส่วนนี้ไปทยอยคืนหนี้ของบริษัท ทำให้วันนี้ โรงกลั่นระยองมีภาระหนี้ลดลงจาก 1,135 ล้านเหรียญ เหลือเพียง 600 กว่าล้านเหรียญสหรัฐทางด้านกรณีของ บริษัท ไทยโอเลฟินส์ จำกัด (มหาชน) หรือ ทีโอซี และ บริษัท อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ เอทีซี ใช้วิธีเดียวกันในการแก้ปัญหาโครงสร้างเงินทุนคือ ทำการลดทุน ลดหุ้นบริษัทเพื่อล้างขาดทุนสะสม เพื่อให้บริษัทมีความน่าสนใจมากขึ้น เนื่องจากสามารถจ่ายเงินปันผลโดยกรณี ทีโอซี ได้เพิ่มทุนใหม่ในภายหลัง และเข้ากระจายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อนำเงินที่ได้จากการระดมทุนมาใช้ในการชำระหนี้ และลงทุนในการขยายงานของบริษัทซึ่งปัญหาของ ทีโอซี และ เอทีซี ในด้านปฏิบัติการจะคล้ายกันคือ กำลังการผลิตของโรงงานที่มีอยู่ไม่อยู่ในระดับโลก ทำให้ต้นทุนการผลิตสูงกว่าผู้ผลิตปิโตรเคมีรายอื่น เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจจึงไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายคืนเงินต้น แต่มีความสามารถเพียงการจ่ายค่าดอกเบี้ยเท่านั้น จึงต้องมีการขอยืดระยะเวลาในการชำระหนี้ออกไป และจะต้องมีการลดต้นทุนการผลิตโดยในส่วนของ ทีโอซี ต้องมีการขยายกำลังการผลิตปิโตรเคมีขั้นต้น(เอทธิลีน) เพิ่มเติมอีก 3 แสนตันต่อปี จากเดิมที่มีกำลังการผลิตอยู่แล้ว 5.75 แสนตันต่อปี โดยโรงงานส่วนขยายนี้จะต้องมีการลงทุนเพิ่มอีก 140 ล้านเหรียญสหรัฐแต่จะช่วยทำให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงมาอยู่ในระดับที่สามารถแข่งขันได้ ปตท. จึงได้ตัดสินใจที่จะใส่เงินลงไปใน ทีโอซี อีก 70 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 2,800 ล้านบาท)ส่วนอีก 70 ล้านเหรียญสหรัฐ ทีโอซี กู้จากสถาบันการเงิน นอกจากนี้ ปตท.ยังให้เงินหมุนเวียนเพื่อใช้ในการดำเนินงานของ ทีโอซี อีก 100 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 4,000 ล้านบาท)โดยในเดือนธันวาคม 2547 ที่ผ่านมา โรงงานก็ได้ก่อสร้างเสร็จ แม้ว่าราคาปิโตรเคมีจะตกลงในช่วงปีนี้ แต่ด้วยต้นทุนการผลิตที่ลดลงจากการขยายกำลังการผลิตเพิ่ม ทำให้กำไรครึ่งปีนี้ของ ทีโอซี เพิ่มขึ้นกว่าช่วงเดียวกันปีที่แล้ว แต่หากไม่ขยายกำลังการผลิตเลยกำไรในปีนี้จะน้อยกว่าปีที่แล้วสำหรับในส่วนของ เอทีซี ก็ลงทุนขยายโรงงาน(Debottleneck) ซึ่ง ปตท.คาดการณ์ว่า ราคาผลิตภัณฑ์น่าจะดีขึ้น และจะสามารถคืนทุนได้ภายใน 1-2 ปี ปตท.ได้ให้เงินทุนหมุนเวียน จำนวน 90 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 3,600 ล้านบาท) ซึ่งก็เป็นไปตามคาดนอกจากนั้น ปตท.ได้เข้ามาช่วยเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ ทำให้ฐานะการเงินของ เอทีซี เกิดความเข้มแข็ง กอปรกับผลดำเนินงานที่ดีขึ้น เอทีซี จึงสามารถเจรจาหาเงินกู้มาลงทุนในโรงอะโรเมติกส์ โรงที่ 2 เองได้สรุปภาพรวม ตั้งแต่ แปรรูป ปตท.มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและใช้ศักยภาพที่มีเพื่อการลงทุนทั้งในบริษัทในเครือ และในธุรกิจของ ปตท.เอง (สร้างโรงแยกก๊าซ หน่วยที่ 5 / เพิ่มประสิทธิภาพการส่งก๊าซของระบบท่อส่งก๊าซเดิม และเร่งก่อสร้างท่อส่งก๊าซ สายประธานเส้นที่ 3 ฯลฯ) รวมทั้งการปรับโครงสร้างการบริหารภายในของ ปตท.เอง จนทำให้ในปีที่ผ่านมา และในปีนี้เป็นปีที่สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จอย่างชัดเจนของ ปตท.ในรูปของผลการดำเนินงาน โดย "จะเห็นได้ว่ากำไรส่วนใหญ่ของ ปตท.มาจากส่วนแบ่งเงินกำไรจากบริษัทในเครือ ที่เป็นผลจากเม็ดเงินที่ ปตท.เพิ่มการลงทุนในบริษัทในเครือทั้งสายการกลั่นน้ำมัน และปิโตรเคมี ทำให้บริษัทในเครือที่ประสบปัญหาตั้งแต่ช่วงปี 2543 และ 2544 สามารถพลิกฟื้นธุรกิจกลับมาได้ในปัจจุบัน และส่งผลกำไรจำนวนมากกลับมาให้กับ ปตท. ในวันนี้นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจก๊าซธรรมชาติที่เป็นธุรกิจหลักของ ปตท.เอง ก็มีกำไรเพิ่มขึ้นเป็นเพราะมีการขายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น(สินค้าในธุรกิจนี้ คือ ก๊าซธรรมชาติ และผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซธรรมชาติ)เนื่องจาก ในช่วง 3-4 ปีหลังแปรรูป ปตท.ได้ลงทุนกว่า 120,000 ล้านบาท เพื่อเพิ่มศักยภาพของระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ และก่อสร้างโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 5 ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยแล้วเสร็จเมื่อปลายปี 2547 ทำให้สามารถผลิตภัณฑ์จากโรงแยกก๊าซออกมาขายได้มากขึ้นถึงเกือบ 50% และนำก๊าซธรรมชาติจากหลุมขึ้นมาขายเพิ่มขึ้นอีก 20%ถ้า ปตท.ไม่แปรรูปวันนี้รัฐบาลก็เป็นเจ้าของ ปตท. 100% แต่ธุรกิจนั้นอาจจะกำไร 2-3 หมื่นล้านบาทแต่วันนี้ รัฐ / กองทุนของคนไทย ถือหุ้นกว่า 70% ปตท. และบริษัทในเครือมีกำไร 7-8 หมื่นล้านบาทจะเห็นว่าเมื่อแปรรูปแล้ว ปตท. ไม่ได้อยู่เฉยๆ แต่ทำหลายอย่างให้บริษัทในเครือเจริญเติบโตขึ้นด้วยและที่สำคัญการปรับโครงสร้างหนี้ของไทยออยล์ และ RRC มีผลทำให้หนี้ของประเทศลดลงด้วยในทางกลับกัน ถ้าไม่ได้ทำ หรือไม่มีกำลังที่จะทำ นอกจากไม่มีวันนี้วันที่รายได้ของทุกบริษัทดีขึ้น และกลับมาสู่ ปตท. แล้ว แต่ธุรกิจเหล่านั้นก็อาจจะไปอยู่ในมือธนาคารต่างประเทศ และจะขายต่อให้ใครก็ไม่มีใครรู้ปัจจุบัน ปตท.ดำเนินธุรกิจ ในกรอบของกฎระเบียบเดิมเหมือนกับบริษัทน้ำมันอื่นๆ เหมือนกับโรงกลั่นแห่งอื่นๆ ของเอกชน และเหมือนกับโรงงานปิโตรเคมีของเอกชนอื่นๆ ทุกประการดังนั้น การแปรรูปจึงไม่ใช่เหตุผลเดียวที่ทำให้ ปตท.กลายเป็นบริษัทชั้นนำของประเทศ แต่ต้องประกอบด้วยหลายปัจจัย อาทิ ความยืดหยุ่นในการทำงาน ระบบบริหารงานที่เอื้อต่อการดำเนินงานพนักงานต้องพัฒนาศักยภาพอย่างต่อเนื่อง ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล สามารถมองการลงทุนในระยะยาวได้ การลงทุนจะต้องลงทุนอย่างระมัดระวัง รอบคอบ และมีการศึกษาอย่างดี บางครั้งจะต้องมีการคิดนอกกรอบแต่สิ่งสำคัญที่สุด คือจะต้องมีความแข็งแกร่งทางด้านฐานะการเงิน และท้ายสุดหากต้องการซื้อคืนก็สามารถทำได้และไม่ว่าก่อน หรือหลังการแปรรูป ความเข้มแข็งของ ปตท.ทั้งที่ผ่านมาและในอนาคตต้องเป็นไปเพื่อความมั่นคงทางพลังงานและเศรษฐกิจของประเทศ โดยยืนอยู่บนการทำธุรกิจที่สมเหตุสมผล และเป็นธรรม
โดย : มติชนรายวัน วันที่ 22/11/2005

คำถาม..

-คุณมีความคิดเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการจัดการทางการเงิน หลังการแปรรูป ปตท.



จัดทำโดย นางสาวลดาวดี พิมพ์สีทา 47210057

วันพุธที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551

บทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารทางการเงินในองค์กรธุรกิจ

จัดทำโดย
นางสาววัลลี สานอินสี
ID:47210089


บทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารทางการเงินในองค์กรธุรกิจ

ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจและการเงินมีความผันผวนอย่างมาก อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ การขึ้นลงประจำวันของราคาน้ำมัน การขึ้นลงของอัตราเงินเฟ้อ การปฏิรูปทางกการเงินและการเกิดนวัตกรรมทางการเงิน ทำให้ผู้บริหารการเงินต้องเรียนรู้ และปรับตัวให้ทันกับสถานการณ์ ต่าง ๆ ตลอดจนการนำเทคโนโลยีและวิทยาการทางการเงินสมันใหม่เข้ามาใช้ บทบาทและหน้าที่ของผู้บริหารการเงินจึงต้องมีขอบข่ายงานกว้างขวางจากเดิม เพื่อให้ครอบคลุมถึงหน้าที่และความรับผิดชอบต่อบุคคลหลายฝ่ายที่เข้ามาเกี่ยวข้องรวมทั้งรัฐบาลได้เพิ่มบทบาทเข้ามาควบคุมการดำเนินงานของธุรกิจ เพื่อเป้าหมายของการพัฒนาเศรษฐกิจและสวัสดิการแก่สังคมมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินงานและประสานงานกับหลาย ๆ ฝ่าย ทำให้การบริหารงานของผู้บริหารการเงินต้องคำนึงถึงความรับผิดชอบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องด้านต่าง ๆ ดังนี้
1 ความรับผิดชอบต่อเจ้าของหรือผู้ถือหุ้น คือ ต้องการให้ผู้ถือหุ้นได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนในอัตราสูงสุด
2.ความรับผิดชอบต่อลูกจ้าง(พนักงาน)คือ ต้องส่งเสริมให้ลูกจ้างมีความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่ และความมั่นคงในการทำงาน ตลอดจนจัดให้มีสวัสดิการแก่ลูกจ้างด้วย
3.ความรับผิดชอบต่อเจ้าหนี้ คือ การบริหารงานให้มีความมั่นคงทางการเงิน เพื่อเจ้าหนี้จะได้มีความมั่นใจว่าธุรกิจสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดเวลา
4.ความรับผิดชอบต่อรัฐบาล คือ ธุรกิจต้องดำเนินงานโดยไม่ขัดต่อรัฐบาล และกฎหมายของประเทศที่ตนดำเนินงานอยู่
5.ความรับผิดชอบต่อชุมชนในสังคม คือ ธุรกิจต้องดำเนินงานโดยไม่เป็นภัยต่อสุขภาพ หรือศีลธรรมอันดีต่อประชาชน
หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารการเงิน (The Financial Staff’s Responsibilities)
ไม่ว่าธุรกิจจะมีรูปแบบองค์กรเป็นอย่างไรก็ตาม จะเป็นกิจการขนาดเล็ก ขนาดกลางหรือขนาดใหญ่ ผู้บริหารการเงินจะมีหน้าที่หลักในการบริหารเพื่อทำให้เกิด มูลค่าเพิ่มแก่กิจการ นั่นหมายถึงการบริหารเพื่อให้เกิดผลกำไรและขยายกิจการให้เกิดความเจริญ เติบโตในอนาคตอันจะส่งผลให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูงสุดแก่กิจการ (Maximizing Value of the Firm) ดังนั้นหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารการเงินจะมี 5 ประการคือ
หน้าที่ในการพยากรณ์และวางแผน (Forecasting and Planning)
หน้าที่ในการตัดสินใจลงทุนและจัดหาเงินทุน (Investment and Financing Decision)
หน้าที่ในการประสานงานและควบคุม (Coordination and Control)
หน้าที่ในการเป็นตัวแทนขององค์กรทำการติดต่อกับตลาดการเงิน (Dealing with the Financial Market)
หน้าที่ในการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
หน้าที่ในการพยากรณ์และวางแผน (Forecasting and Planning)
ผู้บริหารการเงินจะมีหน้าที่ในการประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ขององค์กรเพื่อรับข้อมูลอันเป็นประโยชน์ต่อการพยากรณ์ และวางแผนทางการเงิน ซึ่งการพยากรณ์และการวางแผนสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ - การพยากรณ์และการวางแผนการเงินระยะสั้น - การพยากรณ์และการวางแผนการเงินระยะยาว เพื่อพยากรณ์หรือคาดการณ์เกี่ยวกับการรับและจ่ายเงินสดของกิจการว่าเป็นอย่างไร ในแต่ละเดือนมีเงินสดส่วนเกินหรือเงินสดขาดมือจำนวนเท่าใด ซึ่งช่วยให้ผู้บริหารสามารถวางแผนว่าถ้าในเดือนที่กิจการมีเงินสดส่วนเกินควรนำเงินไปลงทุนอย่างไร หรือเดือนใดที่เงินสดขาดมือ ควรจัดหาเงินสดมาจากแหล่งใด การพยากรณ์และวางแผนการเงินระยะสั้นนี้ช่วยให้กิจการได้ใช้เงินทุนระยะสั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุดและรักษาสภาพคล่องของกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ เป็นการพิจารณาการตัดสินใจลงทุน ซึ่งกิจการต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง โดยให้ผลตอบแทนในระยะยาว จึงจำเป็นต้องทำการพิจารณาให้รอบคอบก่อนการตัดสินใจลงทุนข้อมูลที่นำมาประกอบการตัดสินใจต้องเป็นข้อมูลที่มีความแม่นยำเพื่อให้การวิเคราะห์นั้นตรงกับความเป็นจริงมากที่สุด จึงสามารถนำมาใช้เป็นเครื่องมือในการวางแผนเพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หน้าที่ในการตัดสินใจลงทุนและจัดหาเงินทุน (Investment and Financial Decision)
ปัญหาการตัดสินใจของผู้บริหารการเงินแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ ปัญหาการตัดสินใจระยะสั้น เช่น ปัญหาในกรณีที่กิจการจะทำการผลิตชิ้นส่วนเอง หรือซื้อ ปัญหาว่าควรขายสินค้า หรือผลิตต่อแล้วขาย หรือปัญหาว่าควรยกเลิกสินค้าที่มีผลขาดทุนหรือไม่ ปัญหาการตัดสินใจระยะยาว ซึ่งหมายถึงโครงการลงทุนต่าง ๆ เช่น การสร้างโรงงานแห่งใหม่เพื่อทดแทนโรงงานเดิม การผลิตสินค้าใหม่เพิ่มเติม เป็นต้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาระยะสั้นหรือระยะยาว การตัดสินใจจะมีประเด็นที่สำคัญอยู่ 2 ประการคือ การตัดสินใจจัดหาเงินทุน และการตัดสินใจใช้เงินลงทุน โดยมีหลักการว่า ในการจัดหาเงินทุนควรเป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำที่สุดและความเสี่ยงต่ำที่สุด โดยเงินทุนจะได้มาจากหนี้สินและส่วนของเจ้าของ ซึ่งเงินทุนจากส่วนนี้จะมีต้นทุนในรูปของดอกเบี้ยจ่ายซึ่งจะต่ำกว่า เงินทุนจากส่วนของเจ้าของที่จะมีต้นทุนในรูปของเงินปันผลหรือกำไร(ขาดทุน) นอกจากนี้ความเสี่ยงก็ต่ำกว่าด้วยการตัดสินใจนำเงินทุนไปใช้ แบ่งออกเป็น 2 ทางคือ ใช้ลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียนซึ่งจะทำให้กิจการมีสภาพคล่องสูง แต่ความสามารถในการทำกำไรจะต่ำกว่า เมื่อเทียบกับการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร

หน้าที่ในการประสานงานและควบคุม (Coordination and Control)
ในการปฏิบัติงานผู้บริหารการเงินจะต้องประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ ในการดำเนินกิจการเพื่อมั่นใจว่ากิจการจะมีผลการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ การตัดสินใจทุก ๆ ด้านของกิจการจะต้องมีส่วนสัมพันธ์หรือมีผลกับเรื่องของการเงินเสมอ เช่น การตัดสินใจด้านการตลาดเกี่ยวกับการออกผลิตภัณฑ์ใหม่จะมีผลกระทบต่อความต้องการในการขยายการลงทุน การจัดหาเงินทุนจากแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ผลกระทบต่อความต้องการในการขยายการลงทุน การจัดหาเงินลงทุนจากแหล่งเงินทุนที่เหมาะสม ผลกระทบต่อนโยบายสินค้าคงคลังและความสามารถในการใช้กำลังการผลิตอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ การดำเนินงานเหล่านี้จะเกิดประสิทธิภาพได้จะต้องอาศัยการประสานงานกันระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อที่จะนำข้อมูลมาช่วยตัดสินใจในการวางแผนอันเป็นแนวทางในการปฏิบัติงาน ขณะเดียวกันก็สามารถควบคุมการดำเนินงานโดยการตรวจสอบและประเมินผลตลอดระยะเวลาการปฏิบัติงานว่าเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้หรือไม่
หน้าที่ในการเป็นตัวแทนองค์กรทาการติดต่อกับตลาดการเงิน (Dealing with the Financial Market)
ผู้บริหารการเงินจำเป็นต้องติดต่อตลาดการเงินเพื่อการระดมทุน โดยสามารถแบ่งตลาดการเงินออกได้เป็น 3 ตลาดดังนี้ ตลาดการเงิน (The Financial Market) ตลาดเงิน (Money Market) ตลาดทุน (Capital Market) ทำหน้าที่ในการระดมเงินทุนระยะสั้นที่มีอายุการชำระหนี้ไม่เกิน 1 ปี แหล่งเงินทุนหรือสถาบันที่ทำหน้าที่เป็นตลาดเงินได้แก่ เจ้าหนี้การค้า เงินเบิกเกินบัญชี (overdraft account) ตลาดรับซื้อคืน (Reperchase Market ) แต่ละตลาดมีหน้าที่ในการระดมเงินทุนหรือจัดหาเงินทุนให้แก่ธุรกิจโดย ทำหน้าที่ในการระดมเงินทุนระยะยาวที่มีอายุการชำระหนี้เกิน 1 ปี โดยมีแหล่งเงินทุน ได้แก่ เงินกู้ยืมระยะยาวจากธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงิน ตลาดหลักทรัพย์ ตลาดOTC ดังนั้นการที่ธุรกิจจัดหาเงินทุนต้องพิจารณาวัตถุประสงค์ว่าจะนำเงินไปลงทุนอะไร ถ้าลงทุนในสินทรัพย์หมุนเวียน ควรจัดหาเงินทุนจากตลาดเงิน แต่ถ้าต้องการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรควรจัดหาเงินทุนจากตลาดทุน โดยพิจารณาเงินทุนแต่ละแหล่งว่ามีต้นทุนของเงินทุนและความเสี่ยงเป็นอย่างไร ซึ่งผู้บริหารควรเลือกแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนและความเสี่ยงต่ำสุด
หน้าที่ในการบริหารความเสี่ยง (Risk Management)
กิจการทุก ๆ แห่งต้องเผชิญกับความเสี่ยง 2 ลักษณะ คือ
ความเสี่ยงนอกระบบ (Unsystematic Risk) เป็นความเสี่ยงอันเกิดจากภายในองค์กร และองค์การสามารถควบคุมได้ขึ้นอยู่กับ ผู้บริหารขององค์กรว่ามีความสามารถบริหารงานเพื่อขจัดความเสี่ยงได้มากน้อยเพียงใด เช่น ความเสี่ยงเรื่องสภาพคล่องทางการเงินของกิจการ
ความเสี่ยงภายในระบบ (Systematic Risk) ความเสี่ยงอันเกิดจากภายนอกกิจการ เป็นความเสี่ยงที่ควบคุมไม่ได้ ผู้บริหารต้อง มีความสามารถในการพยากรณ์ทิศทางหรือแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง เช่น กาเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) หรืออัตราการแลกเปลี่ยนเงินตรา (Foreign Exchange Rate)
การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ประชากรศาสตร์ ความเสี่ยงในระบบ (Systematic Risk) หน้าที่ต่าง ๆ ภายในองค์กรธุรกิจ
ความเสี่ยงนอกระบบ (Unsystematic Risk)
แหล่งที่มา
http://www.rd.go.th/publish/309.0.html
คำถาม
1. ปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจและการเงินมีความผันผวนอย่างมาก อัตราดอกเบี้ย อัตราแลกเปลี่ยนของเงินสกุลต่าง ๆ ในปัจจุบันขึ้นอยู่กับอะไร
2. หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้บริหารการเงินมีกี่ประการและแต่ละประการมีหน้าที่อย่างไร
3. ตลาดการเงินเพื่อการระดมทุน สามารถแบ่งตลาดการเงินออกได้เป็นกี่ตลาด